พลังงาน คือสิ่งที่ทำให้สิ่งต่างๆ เคลื่อนที่ พลังงานอยู่ในตัวของสิ่งของที่อาจใช้แรงได้ สิ่งใดก็ตามที่เคลื่อนไหว เติบโต หรือทำงานในทางได้ทางหนึ่งย่อมมีพลังงาน พลังงานที่ถูกเก็บไว้สามารถนำมาใช้งานได้ พลังงานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากรูปแบบหนึ่งไปสู่แบบหนึ่ง พลังงานมีหน่วยวัดเป็นจูล(Joules) หรือกิโลวัตต์-ชั่วโมง
พลังงานเป็นกำลังงานที่ใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือระยะทางหนึ่ง ในทางฟิสิกส์พลังงานเป็นหนึ่งในคุณสมบัติเชิงปริมาณพื้นฐานที่อธิบายระบบทางกายภาพหรือสถานะของวัตถุ กฎของการอนุรักษ์พลังงานระบุว่า พลังงานในระบบ สามารถเพิ่มหรือลดได้โดยการถ่ายโอนเข้าหรือออกจากระบบเท่านั้นจะไม่สามารถสูญสลายไปได้ เช่น เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านเรือน (โซลาร์เซลล์) หรือ เปลี่ยนพลังงานสะสมที่มีอยู่ในน้ำที่เก็บไว้ในเขื่อน (พลังงานศักย์) มาเป็นพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนไดนาโม (พลังงานจลน์) ของโรงไฟฟ้า
พลังงานกล หมายถึง พลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่โดยตรงของวัตถุ ประกอบด้วยพลังงานศักย์และพลังงานจลน์ พลังงานกลคือแรงที่มนุษย์ใช้กล้ามเนื้อแขนขา พลังงานที่ได้จากสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะ ใช้แรงงาน ส่วนพลังงานกลธรรมชาติมีอยู่หลายอย่างเช่น พลังงานลมที่ช่วยในการขับเคลื่อนเรือใบ หรือพลังงานจากกระแสน้ำให้ในการหมุนล้อจักรไม้เพื่อโม่แป้ง
พลังงานเคมี คือ พลังงานที่สะสมอยู่ในสาร ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ไม้ ถ่านหิน และอาหาร เมื่อสารเหล่านี้เกิดปฏิกิริยาเคมีก็จะให้พลังงานออกมา เช่น การเผาไหม้ของไม้หรือถ่านหินจะให้พลังงานออกมาในรูปแบบความร้อนและแสงสว่าง การเผาผลาญอาหารในร่างกายก็ให้พลังงานในการเจริญเติบโต พลังงานความร้อนที่สร้างอบอุ่นให้ร่างกาย เหล่านี้ล้วนเป็นพลังงานเคมีทั้งสิ้น
พลังงานคลื่น คือ พลังงานที่ลมถ่ายทอดมายังผิวน้ำเกิดเป็นคลื่นวิ่งเข้าสู่เกาะหรือชายฝั่ง ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งต้องอยู่ในโซนที่มียอดคลื่นเฉลี่ยอยู่ที่ 8 เมตรและมีแรงลมด้วย
พลังงานความร้อน คือ พลังงานที่ได้มาจากอุณหภูมิความร้อน มีหลายแหล่งกำเนิด เช่น ดวงอาทิตย์ ของเหลวใต้พื้นพิภพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า พลังงานเปลวไฟ
พลังงานทดแทน คือ พลังงานที่ใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตเลียมและก๊าซธรรมชาติ ตัวอย่างพลังงานทดแทน คือพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ เชื้อเพลงชีวภาพ เป็นต้น
พลังงานนิวเคลียร์ คือ พลังงานรูปแบบหนึ่งที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ 1.พลังงานนิวเคลียร์แบบฟิซชั่น เกิดจากการแตกตัวของนิวเคลียสธาตุหนัก เช่น ยูเรเนียม เมื่อถูกชนด้วยนิวตรอนหรือโฟตรอน 2.พลังงานนิวเคลียร์แบบฟิวชั่น คือการรวมตัวของนิวเคลียสธาตุเบา เช่น ไฮโดรเจน 3.พลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี คือ ให้รังสีต่างๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา 4.พลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดจากการเร่งอนุภาคที่มีประจุโดยเครื่องเร่งอนุภาค คือ อิเล็กตรอน โปรตอน ดิวทีรอน และอัลฟา
พลังงานน้ำ อาศัยพลังงานของน้ำที่เคลื่อนที่ ปัจจุบันพลังงานน้ำส่วนมากจะถูกใช้เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้แล้วพลังงานน้ำยังถูกนำไปใช้ในกรมชลประทาน การสี การทอ และใช้ในโรงงานเลื่อย การใช้พลังงานน้ำมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีการสร้างกังหันน้ำเพื่อใช้ในงานต่างๆ ปัจจุบันสามารถส่งต่อพลังงานไปใช้ในที่ห่างจากแหล่งน้ำได้
พลังงานลม เป็นพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ ความกดดันของบรรยากาศและแรงจากการหมุนของโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเร็วลมและกำลังลม เช่น ใช้กังหันลมวิดน้ำ สูบน้ำ ขับเคลื่อนวัตถุ
พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานของแสงและความร้อนที่แผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ เราสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในครัวเรือนหรืออาคารสำนักงานไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
พลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานที่เปลี่ยนมาจากพลังงานรูปอื่นซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนผ่านตัวนำไฟฟ้า นำมาใช้งานต่อ
พลังงานแม่เหล็ก เกิดขึ้นในสนามแม่เหล็กหรือจากสนามแม่เหล็กซึ่งถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เช่น นำไปยกชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กในโรงประกอบรถยนต์หรือเรือ โรงตัดเหล็ก ขึ้นรูปเหล็ก โรงถลุงเหล็กจากขยะรถยนต์ โรงแยกเหล็ก เอาไปทำเตาแม่เหล็กหรือทำการเชื่อม ทำเรดาห์ เครื่องสแกนแม่เหล็ก MRI
พลังงานจากการแผ่รังสี เป็นพลังงานของคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้าอาจมองเห็นหรือมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า มีหน่วยเป็นจูล พลังงานจะถูกส่งออกมาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งสู่สิ่งแวดล้อมโดยรอบ
พลังงานเสียง เกิดจากการสั่นสะเทือน ของวัตถุ เสียงจะเคลื่อนที่จากแหล่งกำเนิดเสียงผ่านตัวกลาง 3 ชนิด คือ ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ ไปยังอวัยวะเสียง คือ หู
***ได้ทำความรู้จักกับพลังงานมากมายที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างหลากหลายรูปแบบกันเบื้องต้นแล้วคงจะทำให้หลายๆ คนเข้าใกล้ “พลังงาน” มากกว่าเดิมและตระหนักได้ว่าพลังงาน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป