หลอดฟลูออเรสเซนต์ใช้แล้วทิ้งที่ไหน ? จึงจะปลอดภัยต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมหลายคนคงสงสัยว่า
หลอดไฟที่ใช้แล้วถือเป็นขยะมีพิษ ที่เราควรแยกทิ้งให้ถูกต้อง แต่แล้วเราจะไปทิ้งที่ไหนล่ะ วันนี้ เรามีคำตอบ
ให้คุณค่ะ
1. ถังสีเขียว ขยะเศษอาหาร(ขยะเปียก) ได้แก่ พืช ผัก อินทรียวัตถุที่ย่อยสลายง่าย
2. ถังสีเหลือง ขยะรีไซเคิล (ขยะแห้ง) ได้แก่ แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก ฯลฯ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 3. ถังสีเทาฝาส้ม ขยะมีพิษอันตรายซึ่งเกิดจากบ้านเรือน ได้แก่ หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรรี่รถยนต์
ถ่านไฟฉาย กระป๋องยาฆ่าแมลง ฯลฯ ส่วนใหญ่จะตั้งถังประเภทนี้ไว้ตามสถานบริการน้ำมัน
ด้วยความที่ไม่มีตั้งอยู่ทั่วไปให้เราได้หาทิ้งกันได้สะดวก วิธีง่ายๆ อีกวิธีที่จะสามารถทิ้งขยะเป็นพิษเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ก็คือ ถ้าเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ให้ ใส่กล่องเดิมที่บรรจุหลอดไฟมา หรือเก็บรวบรวมให้ได้มากหน่อย ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หลายชั้น เพื่อกันแตก เพราะสารปรอทที่อยู่ในหลอดอาจเป็นอันตรายต่อเราได้ จากนั้นใส่ถุงดำแล้วติดป้ายไว้ว่า “ขยะพิษ (หลอดฟลูออเรสเซนต์)” เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะทราบ แล้วกองไว้ใกล้จุดทิ้งขยะ ขยะมีพิษอื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน หรือถ้ามีมาก ก็สามารถโทรเรียกฝ่ายรักษาความสะอาดของเขตที่เราอยู่ไปรับถึงที่เลยค่ะ
ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ (แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ หูฟัง) โครงการจุฬาฯรักษ์โลก มีจุดตั้งกล่องรีไซเคิลสำหรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
1. อาคารวิทยกิตติ์ (หน้าทางเข้าศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามสแควร์)
2. จัตุรัสจามจุรี (บริเวณเสาหน้าธนาคารกรุงไทย ชั้น G)
3. อาคารจุฬาพัฒน์ 1 คณะสหเวชศาสตร์ (บริเวณโถงอาคาร ชั้น 1 )
4. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (บริเวณโถงอาคาร ภปร.)
5. อาคารอื้อจื่อเหลียง ถ.พระราม 4 (ตรงข้าม 7-11 ชั้น1)
6. อาคารเมืองไทย-ภัทร คอมเพล็กซ์ ถ.รัชดาภิเษก (ล็อบบี้อาคาร 1 )
7. อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ถ.สีลม (ใกล้ลิฟท์ชั้น 5 )
8. ธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ (Canteen ชั้น 6)
*หมายเหตุ จุดตั้งกล่องอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม กำหนดเวลาตั้งกล่อง ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 2560 หรือส่งไปรษณีย์มาที่ “โครงการจุฬาฯรักษ์โลก” ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ชั้น 8 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 02 2183959
**งดรับถ่านไฟฉาย เนื่องจากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปกำจัดได้โดยตรง คือ สำนักงานเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลและอบต.)**